วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ประวัติ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง เป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง นามสกุล หนูศรี มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 3 คน ตัวท่านเป็นคนสุดท้อง เมื่อหลวงพ่อถือกำเนิดได้ไม่นาน มารดาของท่านก็เสียชีวิต และเมื่อท่านอายุได้ 4 ปี บิดาของหลวงพ่อก็เสียชีวิตอีก ทำให้หลวงพ่อกำพร้าตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านจึงได้อาศัยอยู่กับยาย และ พี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ เมื่อท่านถึงวัยที่ต้องศึกษา ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศธรรมประวัติ ตามลำดับ

เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นทารกมีเหตุอัศจรรย์ที่ทำให้เชื่อว่าท่านจะต้องเป็น ผู้มีบุญวาสนามาเกิด คือในช่วงหน้าน้ำหลาก คืนหนึ่งขณะที่บิดาและมารดากำลังทำขนมอยู่นั้น มารดาท่านได้วางตัวท่านไว้บนเบาะนอกชานบ้าน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปน้ำ แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ตัวท่านกลับไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำไปติดอยู่ข้างรั้ว กระทั่งสุนัขที่บ้านเลี้ยงไว้ มาเห็นเข้าจึงเห่าและวิ่งกลับไปกลับมา มารดาท่านจึงสงลัยว่าคงจะมีเหตุการณ์ผิดปกติ จึงได้ตามสุนัขออกมาดู ก็พบท่านลอยน้ำอยู่ติดกับข้างรั้ว

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
อุปสมบท
เมื่อท่านอายุได้ 21 ปี ก็ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันอาทิตย์แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ณ อุโบสถวัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า “ พรหมปัญโญ

ศึกษาธรรม
ในพรรษาแรกๆ นั้น หลวงปู่ดู่ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัด ประดู่ทรงธรรม (ในสมัยนั้นเรียกว่าวัด ประดู่โรงธรรม) โดยศึกษากับ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

ในด้านการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน นั้น หลวงปู่ดู่ ได้ ศึกษา กับ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม ผู้เป้นพระอุปัชฌาย์ และ หลวงพ่อเภา ซึ่งเป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น และ มีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ 2 ประมาณปลายปี พ.ศ. 2469 หลวงพ่อกลั่นก็ได้มรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษากับหลวงพ่อเภาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้ศึกษาจากตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจาก พระอาจารย์อีกหลายท่าน ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ฯลฯ

เมื่อพ.ศ. 2486 ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อก็ออกเดินธุดงค์ จากวัดสะแก มุ่งหน้า สู่ป่าเขาแถบจังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างทาง ก็แวะนมัสการสถานที่สำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา

นิมิตธรรม
ในคืนหนึ่ง ในช่วงก่อน ปี พ.ศ.2500 เล็กน้อย หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตรเย็น และเข้าจำวัดแล้วนั้น เกิดนิมิตไปว่าได้ฉันดาว ที่มีแสงสว่างมากเข้าไป 3 ดวง ขณะที่ฉันนั้นรู้สึกว่า กรอบๆ ดี เมื่อฉันหมดก็ตกใจตื่น ท่านจึงได้พิจารณานิมิตที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจในนิมิตนั้นว่า ดาวสามดวง ก็คือ ดวงแก้วไตรสรณาคมน์ นั้นเอง ท่านจึงท่อง

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ” ก็เกิดปิติขึ้นในจิตท่านอย่างท่วมท้น เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมั่นใจว่า การยึดมั่นพระไตรสรณาคมน์ เป็นวิธี ที่เข้าสู่แก่นแท้ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอา พระไตรสรณาคมน์ เป็นองค์บริกรรมภาวนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แลกลิงค์

Create your own banner at mybannermaker.com!
Copy this code to your website to display this banner!
เอาลิงค์ติดที่เว็บท่านแล้วแจ้งที่ infothaiamulet@gmail.com