วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แพะ ล.พ.อ่ำ วัดหนองกระบอก

สำนักวัดหนองกระบอกนี้ปลุกเสกแพะได้โด่งดังมาตั้งแต่สมัยลพ.อ่ำ ท่านแล้วครับ ตำรับการสร้างสืบทอดต่อมาจากลป.แตง วัดอ่างศิลา โดยจะต้องจัดสร้างมาจากเขาควายที่ฟ้าผ่าตายเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นของอาถรรพณ์ชั้นเยี่ยม ประสบการณ์ด้านเมตตา มหาเสน่ห์ โชคลาภ เป็นที่เลื่องลือมาช้านาน

แพะ ล.พ.อ่ำ วัดหนองกระบอก
หลวงพ่ออ่ำ..หรือ หลวงปู่อ่ำ เจ้าตำรับ แพะ ตัวเล็กอันลือลั่น เคยดั้นด้นไปกราบรูปเหมือนถึงวัด รูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริง ที่ฐานเขียนว่า พระครูเทพสิทธา (อ่ำ) ดูป้ายแสดงรายนามอดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกระบอก ต.หนองระลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ระบุไว้ว่า ท่านเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ – ๒๔๙๐

หลวงปู่อ่ำ ท่านเป็นเจ้าคณะหมวด และเป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรมายาวนาน น่าเสียดายที่ประวัติของท่านค่อนข้างเลือนราง สอบถามทายกวัดก็ไม่ทราบ ทราบเพียงว่า ท่านสร้างแพะ แกะจากเขาแพะ และเขาควายเผือก ส่วนที่ว่าต้องถูกฟ้าผ่าตายด้วยนั้นไม่ยืนยัน นอกจากแกะเป็นสัตว์รูปตัวแพะแล้ว ยังมีรูปสัตว์อื่น ๆ อีก เช่น หมู เป็นต้น

แพะ ล.พ.อ่ำ วัดหนองกระบอก


วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหรียญ ล.พ.แดง วัดช่องลม

หลวงพ่อแดง วิสุทธสีโล หรือ "พระครูวิสุทธสีลากร" เจ้าอาวาสวัดช่องลม ต.บางทราย อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชลบุรี มีพลังจิตที่เข้มขลังอาคมที่แก่กล้า เป็นที่รู้จักไปไกลทั่วภาคตะวันออก

หลวงพ่อแดงเกิดในสกุลจิรสุวรรณ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม 2462 เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2488 ณ วัดราษฎร์บำรุง อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีพระครูอรรถจารีอุดมคุณ วัดราษฎร์บำรุง เป็นพระอุปัชฌาย์

เป็นพระที่มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ดูฤกษ์งามยามดี ทำนายทายทัก จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และวัตถุมงคลที่ท่านได้อธิษฐานจิตปลุกเสก ล้วนแต่ได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสมนิยมพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง มีพุทธคุณเข้มขลังโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรี

เหรียญ ล.พ.แดง วัดช่องลม จ.ชลบุรี
หลวงพ่อแดงได้ละสังขารลงด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลชลบุรี วันที่ 24 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 13.45 น. สิริอายุได้ 91 ปี พรรษา 65

เหรียญหลวงพ่อแดงรุ่นแรก จัดสร้างโดยพระครูวิสุทธสีลากร เจ้าอาวาสวัดช่องลม เพื่อมอบให้ผู้ที่ร่วมทำบุญบูรณะโบสถ์และเสนาสนะภายในวัด

เหรียญรุ่นนี้มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ออกแบบแกะแม่พิมพ์และจารหมายเลขโดย นายช่างเกษม มงคลเจริญ

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแดงครึ่งองค์หันข้าง ด้านบนรูปเหมือน เขียนคำว่า "พระครูวิสุทธสีลากร (แดง)"

ด้านหลังเหรียญ มียันต์ตัวนะ ล้อมรอบด้วยดอกบัว ด้านบนเขียนคำว่า "วัด ช่องลม อ.เมือง จ.ชลบุรี" ด้านล่างเขียนคำว่า "พ.ศ. ๒๕๓๕"

เหรียญรุ่นดังกล่าวจัดสร้างเป็นเนื้อทองคำลงยาสีแดง จำนวน 9 เหรียญ ไม่ตอกโค้ด จารหมาย เลข ก1-ก9 ใต้ดอกบัวด้านล่าง เนื้อทองคำ จำนวน 100 เหรียญ ตอกโค้ดที่หูเหรียญด้านหน้า จารหมายเลข 1-100 ใต้ดอกบัวด้านล่างหลังเหรียญ เนื้อเงินลงยา 239 องค์ เนื้อเงิน 1,000 องค์ ตอกหมายเลขเรียงกัน เนื้อนวโลหะแจกกรรมการ 100 องค์ เนื้อทอง แดง 1,000 องค์

เหรียญหลวงพ่อแดงออกให้เช่าบูชาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535

กล่าวได้ว่าเหรียญรุ่นนี้แกะแม่พิมพ์ได้เหมือนหลวงพ่อมากที่สุดและมีประสบการณ์อัศจรรย์ มากมาย มีการจารหมายเลขด้วยลายมือนายช่างเกษมและ ตอกโค้ดทุกเหรียญ การตอกแต่ละเนื้อจะมีตำแหน่งต่างกันเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ยกเว้นเหรียญทองแดงตอกโค้ดเพียงอย่างเดียว ส่วนเนื้อทองคำลงยาและเนื้อเงินลงยาจารหมายเลขเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากเมื่อตอกโค้ดลงไปอาจทำให้เนื้อลงยาที่เหรียญเกิดการกะเทาะได้

ปัจจุบันราคาเช่าบูชาเหรียญเนื้อทองแดงสนนราคา 2,500-3,000 บาท ส่วนเนื้ออื่นสนน ราคาสูงหลายเท่าตัว ทำให้เหรียญนี้หายากมาก แม้แต่ในตลาดพระเครื่องเมืองชลก็ตาม

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อ.นอง วัดทรายขาว

พระครูครรมกิจโกศล (พ่อท่านนอง) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว อดีตเจ้าคณะตำบลโคกโพธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2462 เป็นพระเถรานุเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นพระผู้ทรงศีลจริยวัตรงดงามเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นพระผู้มากด้วยเมตตาบารมี สมถะเรียบง่าย เป็นหนึ่งในสามพระภิกษุผู้ร่วมกันคิดร่วมกันสร้างจนพระหลวงปู่ทวดวัดช้างไห้โด่งดังอมตะมาจนทุกวันนี้ และท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์เดียวที่ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมในการปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดจากท่านอาจารย์ทิมวัดช้างไห้ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและนักพัฒนา และสร้างคุณประโยชน์ ให้กับพุทธศาสนามากมาย สร้างศาสนสถาน เสนาสนะต่างๆ ทั้งภายในวัด และงานสาธารณูปการนอกวัดจำนวนมาก ส่งเสริมการศึกษา มีลูกศิษย์ลูกหามากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

พ่อท่านนองมรณภาพเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2542 เวลา 03:27 น. รวมสิริอายุ 80 ปี 60 พรรษา

เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ อ.นอง วัดทรายขาว
ในปี พ.ศ. 2537 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ จากพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ พระครูธรรมกิจโกศล เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทันนามเดิมคือ พระครูธรรมกิจโกศล พร้อมกันนี้ได้จัดสร้างเหรียญฉลองสมณศักดิ์ขึ้น เพื่อโอกาสอันเป็นมงคลนี้และพร้อมกันนั้นในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นมาอีกวาระหนึ่งซึ่งปัจจุบันนี้เหรียญทั้ง 2 ชุด ต่างได้รับความนิยมด้วยชื่อรุ่นอันเป็นมงคลนามนั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระขุนแผนผงพรายกุมาร

ขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่
พระขุนแผนผงพรายกุมาร ความนิยมสูงสุดและเป็น พระขุนแผน ผงพรายกุมารที่แพงที่สุด หลวงปู่ทิม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุด ลูกอมผงพรายกุมาร พระกริ่งชินบัญชร พระขุนแผนผงพรายกุมาร เหรียญและพระเครื่องต่างๆ หลายอย่าง พระขุนแผน หลวงปู่ทิม เป็นที่นิยมอย่างมากเพราะประสบการณ์ด้านเมตตามหาเสน่ห์เป็นที่ประจักษ์ วัตถุมงคลที่ หลวงปู่ทิมท่านได้สร้างไว้ล้วนแต่มีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย

พระขุนแผนผงพรายกุมาร ล.ป.ทิม วัดละหารไร่
พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็น พระขุนแผนยุคหลังที่มีความต้องการในตลาดสูงมากราคาขยับ จนแพงกว่าพระขุนแผน พระกรุเก่าๆ ผงพรายกุมารมหาภูติ ที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า "ผงพรายกุมาร" การทำผงพรายกุมาร นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้สร้างจะต้องกำหนดฤกษ์ผานาทีตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ให้ถูกต้องตามตำรา ซึ่งเคล็ดการจะเป็นเคล็ดการสร้างโดยนำภูติ (ไม่ใช่ผี) ที่ยังไม่ถึงเวลาจุติแล้วมีเหตุต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร มาอธิษฐานจิตบวชให้เป็นเทพ ซึ่งพระเกจิอาจารย์ที่ทำได้จะต้องสำเร็จธรรมชั้นสูงเท่านั้น เมื่อภูติได้รับการบวชเป็นเทพ เราจะเรียกว่า "พ่อพลาย" ชื่อเต็มก็คือ "พ่อพรายมหาภูติ" มีฤทธิ์ มีเดช มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง พระเกจิอาจารย์ที่สร้าง ผงพรายกุมารได้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาราธนาพกติดตัว 100% ที่วงการยอมรับถือเป็นต้นตำรับ ก็คือ หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม จ.นครปฐม ผู้สร้างกุมารทองอันโด่งดังจนถึงปัจจุบันกับ หลวงปู่ทิม อิสริโก แห่งวัดละหารไร่ จ.ระยอง นี้ละครับ พระขุนแผนของ หลวงพ่อเต๋ คงทอง และโดยเฉพาะพระขุนแผนหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่จึงได้รับความนิยมและแพงที่สุด

ดังนั้นเมื่อนำคุณเทพมารวมกับคุณพระทำให้ พระผงพรายกุมาร มีประสบการณ์แปลกๆ เหนือกว่าพระทั่วไปครับ เพราะพ่อพลายจะออกมาช่วยในเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศลคนที่ใช้ พระขุนแผนผงพรายกุมาร เลยมักมีความรู้สึกแปลกๆ คล้ายๆมี six sense สัมผัสพิเศษต่างๆอยู่เสมอจะเห็นผลไวกว่าการใช้คุณพระทั่วไป

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติ ล.ป.เกลี้ยง วัดเนินสุทธาวาส

วัดเนินสุทธาวาส
หากเอ่ยถึง “วัดเก่าแก่” และ “อาคมขลัง” เข้าขั้นเอกอุอีกแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกก็ต้องนึกถึงวัดเนินสุทธาวาส ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี

วัดเนินสุทธาวาสแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชนมาช้านาน ด้วยความขลังแห่งสรรพวิชาอาคมแต่ครั้งอดีตกาล อันเป็นตำนานกล่าวขานถึงอดีตเกจิอาจารย์หลายรูป ตั้งแต่หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อโต หรือพระอธิการโต ซึ่งวัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมจากแวดวงนักนิยมพระไม่เป็นรองสำนักไหนใน ชลบุรี

รายนามอดีตพระเกจิแห่งเมืองชลบุรีที่โดดเด่นมีหลายรูป ได้แก่ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หลวงปู่ภู่ วัดนอก หลวงปู่เจียม วัดกำแพง หลวงพ่อครีพ วัดอุทยานนที (วัดสมถะ) หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกะเฌอ หลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาส (วัดเนิน) หลวงปู่ศรี วัดอ่างศิลา เป็นต้น

ตามประวัติวัดเนินสุทธาวาส (วัดเนิน) เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองชลบุรีมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ตั้งอยู่บนเนินสูง จึงเป็นเหตุให้เดิมเรียกว่า “วัดเนิน” ตั้งแต่นั้นมา

ล.ป.เกลี้ยง วัดเนินสุทธาวาส
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ระบุว่า คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรวบรวมไพร่พลฝ่าวงล้อมของข้าศึกไปตั้งฐานที่มั่นที่เมืองจันทบุรีนั้น ระหว่างทางทรงแวะประทับแรมที่วัดอินทาราม จ.ชลบุรี ซึ่งต่อมาเรียกว่า “วัดใหญ่อินทาราม” ทรงนิมนต์หลวงพ่อทองเจ้าอาวาสวัดเนิน (ชื่อวัดเดิมขณะนั้น) ร่วมไปในกองทัพด้วย โดยหลวงพ่อทองนั้นเลื่องลือเรื่องวิชาอาคมแก่กล้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในภาคตะวันออก

เรื่องเล่าข้างต้นสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี ที่ปรากฏเป็นหลักฐานภายในวัดคือ พระอุโบสถหลังเก่า ที่มีลักษณะแอ่นโค้ง แบบท้องสำเภา ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมแพร่หลายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า “วัดเนิน” น่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางการเพิ่มคำว่า “สุทธาวาส” ต่อท้ายชื่อเดิม จนกลายเป็นชื่อ “วัดเนินสุทธาวาส” จนปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอธิการโต อดีตเจ้า อาวาส พระเกจิอาจารย์ชื่อดังได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่และเปลี่ยนจากผนังไม้ เป็นก่ออิฐถือปูน ก่อนจะบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยท่านพระครู พิศิษฐชโลปการ (หลวงปู่เกลี้ยง) เจ้าอาวาสปัจจุบัน ผู้สืบสานวิชาจากหลวงพ่อโต อดีตเกจิชื่อดัง

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหรียญเราสู้ ล.ป.แหวน

เหรียญเราสู้ ล.ป.แหวน
วัตถุมงคลที่ดังที่สุด "เหรียญเราสู้"
วัตถุมงคลรูปเหมือนหลวงปู่แหวน มีผู้ขออนุญาตสร้างหลายราย หลายรุ่น หลายขนาด มีทั้งของหลวงและของราษฎร์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ทั้งในศาสนจักรและราชอาณาจักร

โดยมากวัดสัมพันธวงศ์และสมาคมสัมพันธวงศ์ เป็นผู้ดำเนินการ มีเจ้าคุณวิบูลธรรมาภรณ์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิบูลสีลวงศ์ ปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกิตติเมธี) และพระครูวิมลญาณอุดม (ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัดเมธาวัฒน์ ปัจจุับัน มรณภาพแล้ว) เป็นผู้ออกแบบดำเนินการรับผิดชอบ จนเสร็จกระบวนพิธีการทุกอย่าง

วัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ที่ดังที่สุด คือ "เหรียญเราสู้" เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่สงบกระทบกระทั่งกัน เกิดขึ้นทางด้านชายแดนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา (เขมร) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เป็นจำนวนมาก ไปขอพึ่งพาอาศัยบารมีหลวงปู่ อยากได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่ไว้คุ้มครองป้องกันตัว และเป็นสิริมงคล ทางวัดดอยแม่ปั๋งขาดปัจจัย ทั้งพ้นวิสัยที่จะจัดให้ทั่วถึงได้ พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง และนายกสมาคมสัมพันธวงศ์ในสมัยนั้น ร่วมกับวัดสัมพันธวงศ์ ตกลงขออนุญาตหลวงปู่สร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกจ่ายแก่ทหาร ตำรวจ และพ่อค้าประชาชน ตลอดถึงผู้ร่วมออกทุนสร้าง โดยอ้างเหตุผลและความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติบ้านเมือง หลวงปู่ไม่ขัดข้องยินดีอนุญาตให้ดำเนินการได้

ล.ป.แหวนอธิษฐานจิต เหรียญเราสู้
คณะกรรมการจึงได้มอบให้เป็นภาระของพระครูวิบูลสีลวงศ์ (พระธรรมกิตติเมธี จำนง ธมฺมจารี) เป็นผู้ออกแบบจัดสร้างเหรียญ และให้พระครูปลัดเมธาวัฒน์ (ชินเทพ) ควบคุมการจัดพิมพ์ มอบให้อาจารย์ปลั่ง ชื่นกลิ่นธูป เป็นเจ้าพิธีการ เชิญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้ศรัทธาในหลวงปู่แหวน เป็นประธานฝ่ายฆราวาสประกอบพิธีแผ่เมตตาเหรียญแบบเราสู้

กระทำพิธีแผ่เมตตาอธิษฐานจิตที่ วิหารวัดดอยแม่ปั๋ง วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ นิมนต์พระคุณเจ้า หลวงปู่แหวน ลงมานั่งแผ่เมตตาตั้งแต่เริ่มพิธีพระเจริญพระพุทธมนต์จนจบ หลวงออกจากสมาธินั่งปรกแล้ว ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้โดยทั่วตลอดทั้งประชาชนผู้เข้าเริ่มพิธี เสร็จแล้วก็มีการแจกให้คณะต่างๆ ที่ไปร่วมพิธี มีนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เชิญไปร่วมพิธี ได้รับแจกไปทั้งเหรียญและรูปเหมือนหลวงปู่

ขณะนั้น กำลังมีการปะทะต่อสู้กันทางชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี นักข่าวและทหารที่ได้รับเหรียญเราสู้ไปเวลานั้น ได้ต่อสู้ผจญภัยในสนามรบอย่างโชกโชนตลอดคืน และปลอดภัยรอดตายมาไดุ้ทุกคน เพราะมีเหรียญเราสู้ประจำตัวอยู่ทุกคน จึงทำให้เหรียญเราสู้โด่งดังไปทั่วทุกหนทุกแห่ง มีประชาชนทุกเพศทุกวัยอยากได้ พากันหลั่งไหลมาขอที่่วัดสัมพันธวงศ์บ้าง ที่วัดดอยแม่ปั๋งบ้าง จนเหรียญไม่พอแจกให้แก่ผู้ต้องการอยากได้

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หรือที่รู้จักกันในนาม "พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม" มีนามเดิมว่า "ญาณ" โยมบิดาชื่อ นายใส โยมมารดาชื่อ นางแก้ว อาชีพทำนาและตีเหล็ก เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2430 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านหนองบอน หมู่ 2 ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพี่น้อง 2 คน ท่านเป็นคนที่ 2

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ท่านออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมีจิตมุ่งมั่นจะอยู่ในสมณเพศ ตามแนวความคิดของมารดาเมื่อครั้งยังมีชีวิต เมื่อออกบรรพชาเป็นสามเณรนั้นได้บวชในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แหวน" สามเณรแหวนสนใจปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ในตำราต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง แม้ด้วยวัยเพียง 13 ปี ท่านก็สามารถอ่านตำราในใบลานได้ทั้งภาษาขอม และภาษาล้านนาจนแตกฉาน ในด้านความประพฤติตนของสามเณรแหวนนี้เป็นที่น่าเลื่อมใสและก่อศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านขยันเจริญสมาธิ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่เสพเนื้อสัตว์ บุคลิกลักษณะสุขุม พูดน้อย ดูเคร่งขรึมสมกับการครองเพศสมณะ

อาจารย์อ้วน ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสามเณรแหวน ได้พิจารณาส่งเสริมความตั้งใจศึกษาของหลานเป็นอย่างดี ได้นำไปฝากเรียนธรรมและวิชาการอื่นๆ ที่สำนักสงฆ์วัดนาสัก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้ไปเรียนต่อ ณ สำนักสงฆ์วัดสร้างถ่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดนี้ ได้มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางภาษาบาลี ภาษาไทย ทำให้ได้เข้าใจและรู้แจ้งในธรรมะขึ้นอีก ความใฝ่รู้ของท่านทำให้รู้และเริ่มเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ประกอบไปด้วย

เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อนอก (ห่างจากวัดสร้างถ่อเล็กน้อย) บวชในฝ่ายมหานิกายเช่นเดิม ได้ศึกษาธรรมวินัย ธรรมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผู้รอบรู้ทั้งปริยัติธรรมตลอดจนถึงวิชาอาคมอย่างกว้างขวาง จากความที่ท่านเป็นผู้ชอบแสวงและใฝ่หาความรู้นั้นเอง จึงเกิดความคิดที่จะออกเสาะหาอาจารย์ผู้ที่จะประสิทธิ์ความรู้ให้แก่ท่านต่อไปอีก จึงได้ออกเดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ขณะที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เริ่มออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมขธรรมนั้นอายุได้ประมาณ 30 ปี บ่อยครั้งจากการธุดงค์ได้พบสหายธรรมจากที่ต่างๆ บ้างก็เป็นพระสงฆ์ในแนวมหานิกายด้วยกัน บ้างก็เป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่ก็มีความผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดกระทั่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดต่างๆ แก่กันเสมอ ผู้ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ และได้คบหากันต่อมาก็คือ หลวงปู่ตื้อ อาจลธรรมโม ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งกำลังเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และกำลังออกสั่งสอนธรรมปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานขณะนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้พบและฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น บังเกิดความซาบซึ้ง และทราบว่าเป็นทางแห่งการแสวงหาธรรมตามที่ประสงค์

หลังจากหลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น และได้เดินทางธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ โดยเดินทางไปจากภาคอีสานไปสู่ประเทศลาว เขมร เวียดนาม พม่า จนกระทั่งทะลุผ่านกลับสู่ประเทศไทย ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วกลับมาสู่อีสานแล้ว ต่อมาอีกไม่นาน (ประมาณอายุ 33 ปี) หลวงปู่แหวนได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ไปจำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้หลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกครั้ง พร้อมทั้งได้ขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์

นับแต่นั้นหลวงปู่แหวนก็ได้ออกธุดงคกรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือตลอดมา จวบจนได้พบวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และได้ทำการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปถึงทุกวันนี้

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่บัว ถามโก

วัดศรีบูรพาราม
ประวัติหลวงปู่บัว ถามโก
วัดศรีบูรพาราม หรือ วัดเกาะ ตะเคียน หมู่ 1 ต.วังกะแจะ อ.เมือง จ.ตราด เป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าเลื่อมใสในดินแดนภาคตะวันออกของประเทศไทย หากเอ่ยชื่อวัดในภาคอื่น ๆ น้อยคนนักที่จะเคยได้ยินชื่อหรือรู้จัก แต่หากเป็นคนพื้นเพใกล้เคียง แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ใน “ของดี” ของวัดแห่งนี้เลื่องลือไปทั่วแดนตะวันออก

เดิมวัดศรีบูรพารามเป็นสำนักสงฆ์เล็ก ๆ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 มีญาติโยมและชาวบ้านที่ศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ก่อสร้างเป็นวัดขึ้นมาใช้ชื่อว่า “วัดเกาะตะเคียน” ทำการฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. 2524 และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีบูรพาราม” จวบจนปัจจุบัน

วัดแห่งนี้มีเจ้าอาวาสรูปแรกและปัจจุบันคือ พระครูสังฆกิจบูรพา หรือ พระอาจารย์บัว อายุ 82 ปี เดิมนั้นท่านชื่อ บัว มารศวารี เกิดวันเสาร์เดือน 5 ปีขาล ตรงกับขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2469 เป็นบุตรของ นายเชี๋ยและนางเตี่ยน ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 3 ต.วังกะแจะ อ.เมือง จ.ตราด ตั้งแต่วัยหนุ่มท่านชอบศึกษาความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรและเชี่ยวชาญด้านช่างไม้ ช่างปูน ช่างปั้น จวบจนอายุครบ 23 ปี ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบุบผาราม ต.วังกะแจะ โดยมีพระครูคุณวุฒิพิเศษ วัดบุบผารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวัตรรัตนวงษ์สิทธิ์ วัดหนองบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเรื่อยมา จนใน พ.ศ. 2505 ก็ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะตะเคียน พ.ศ. 2508 สอบได้ชั้นนักธรรมเอก และ พ.ศ. 2513 เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆกิจบูรพา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวังกะแจะ

“สมัยก่อนการศึกษาด้านภาษาบาลียังไม่แพร่หลายมากนัก ขาดครูผู้สอน อาตมาจึงหันไปศึกษาวิชาความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งคาถาอาคมจากพระครูคุณวุฒิพิเศษ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้เคารพนับถือ โดยเฉพาะวิชาหัวใจ 108 ทำให้รู้ถึงขั้นตอนและกรรมวิธีการทำน้ำมันงา ที่มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน อาศัยเรียนกับโยมชื่อ นายเสียง เป็นคนหมู่บ้านหนองโพง ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องหนังเหนียว ปืนยิงไม่ออก มีดฟันไม่เข้า ทีแรกโยมพาลูกชายมาฝากไว้กับอาตมาที่วัดเพื่อให้เรียนวิชา แต่ลูกชายแกไม่สนใจ แกกลัววิชาจะสูญหาย จึงถ่ายทอดให้อาตมาจนหมดไส้หมดพุง ก็ไม่คิดว่าจะได้นำมาใช้”

หลวงปู่บัว ถามโก
พระครูสังฆกิจบูรพา หรือ พระอาจารย์บัว กล่าวด้วยสีหน้าเปี่ยมด้วยความเมตตาและเล่าต่อว่า “สมัยก่อนนักเลงมีเยอะ โดยเฉพาะพวกคนมีสีชอบรังแกชาวบ้าน อาตมาก็ทำพระเครื่องขึ้นมาแจกให้ญาติโยมพกติดตัว จนไปมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับทหาร ถูกชักปืนจ่อยิง เหลือเชื่อ ปืนไม่ลั่น จนสามารถจับทหารดำเนินคดีติดคุกได้ จากนั้นมาชาวบ้านรู้ข่าวก็เดินทางมาขอของดี ก็แจกจนหมดไม่มีเหลือ เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน เมื่อก่อนทำใส่ไว้ในพานตั้งทิ้งไว้บนศาลาไม่เห็นมีใครสนใจอยากได้เลย พอลือว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้พักเดียวมาเอาไปจนหมดเกลี้ยงเลย”

อย่างไรก็ตาม นอกจากของดีที่หลาย ๆ คนเสาะแสวงหาแล้ว พระครูสังฆกิจบูรพา หรือพระอาจารย์บัว ยังได้รับการขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ภาคตะวันออกอีกด้วย เนื่องจาก เคยมีลูกศิษย์มาเยี่ยมเยียนและนำคำสอนของหลวงพ่อไปตีเป็นเลข เด็ดเสี่ยงโชค ปรากฏว่าถูกหวยรวยกันเละมาแล้ว พอท่านทราบเข้าก็ได้แต่ยิ้มและยืนยันไม่ได้สนับสนุนบอกใบ้ให้เลขใครทั้งสิ้น ถือว่าใครที่มีโชคลาภแล้วแต่บุญวาสนาของแต่ละคน

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลวงปู่แผ้ว ปวโร

หลวงปู่แผ้ว ปวโร
หลวงปู่แผ้ว ปวโร พระเกจิชื่อดัง เทพเจ้าแห่งเมือง กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ชาติภูมิหลวงปู่แผ้ว
หลวงปู่แผ้ว ปวโร อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ท่านมีชื่อว่า แผ้ว บุญวัตร ซึ่งเป็นชื่อและสกุลเดิมของ หลวงปู่แผ้ว ปวโร อายุ 85 ปี พรรษา 65 ท่านชื่อเล่น แกละ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2466 ตรงกับวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ หมู่บ้านหลักเมตร ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บิดาชื่อพาน มารดาชื่อ จุ้ย จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ อ.บางแพ จ.ราชบุรี

และเมื่อท่านอายุได้ 2 ขวบ ทางครอบครัวก็ได้ย้ายไปอยู่ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก พ่อแม่ถือเป็นคนใจบุญ สนทนาธรรมะกับพระมิได้ขาด กระทั่งปี 2475 โยมพ่อได้ฝากไปเป็นศิษย์วัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ เพื่อให้ได้เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ โรงเรียนสมัยนั้นจะอยู่ในวัดและพระเป็นครูสอน เด็กชายแกละจึงอยู่ในความดูแลจากหลวงพ่อหงส์ เจ้าอาวาสวัดหนองม่วง แต่ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะต้องออกมาช่วยงานทางบ้าน

อายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2486 ณ วัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน โดยมี พระครูสุกิจธรรมสร(พระอธิการหว่าง ธมมสโร) วัดกำแพงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปาน อารกฺโฆ วัดหนองปลาไหล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสนั่น วัดหนองปลาไหล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมาในปี 2497 จำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างชาติประชาบำรุง ต.กำแพงแสน มีอาจารย์สุนทร ชิตะมาโร เป็นเจ้าอาวาส

หลวงปู่แผ้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้ถึงนักธรรมเอก หน้าที่รับผิดชอบยังคงเป็นครูสอนพระนักธรรมแก่พระภิกษุและสามเณร ต่อมาเจ้าอาวาสวัดได้ลาสิกขา ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง 1-2 ปี ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุและสามเณรต้องการให้ หลวงปู่แผ้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แม้หลวงปู่จะไม่ยินดีเท่าใดนัก

หลวงปู่แผ้ว ปวโร วัดกำแพงแสน ซึ่งหลวงปู่แผ้วได้จำพรรษาที่วัดกำแพงแสน มาตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปี 2551

ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 2551หลวงปู่แผ้วได้ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม จนถึงปัจจุบัน

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติหลวงพ่อ วัดไร่ขิง

หลวงพ่อวัดไร่ขิง
หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง (มงคลจินดาราม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่า เรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ตั้งแต่ครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น พื้นเพของท่านเป็นชาวนครชัยศรี เล่ากันเป็นสองนัยว่าท่านเป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี 2394 แล้วอาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงบอกให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี

เล่ากันว่า ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต "ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร" จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวนก็นับท่านรวมอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์พี่น้อง ที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย

หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีเสียงเล่าลือกันจากปากต่อปากของประชาชนทั่วไป จากเหนือสู่ใต้ว่าหลวงพ่อมีอิทธิฤทธิ์และอภินิหารต่างๆ มากมายเป็นอเนกประการ แต่ละคนที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ปรากฏแก่ตนเองเกือบทุกคน

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสไร่ขิง ได้นำอภินิหารและอิทธิฤทธิ์บางส่วนจากผู้ศรัทธาหลวงพ่อ มาบันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง อาทิ

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด ทั้งที่ในแต่ละปีมีประชาชนมาปิดทองหลวงพ่อเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร ในการป้องกันสิ่งต่างๆ ตามความรู้สึกของแต่ละคนที่ตั้งใจปรารถนา

- น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจปรารถนา

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ช่วยให้รอดพ้นจากความตาย เพียงแค่ตั้งจิตถึงหลวงพ่อ

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปิดตาขโมยได้ ป้องกันไฟไหม้

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นทุกอย่างได้ตามแรงอธิษฐานของคนอยากให้เป็น

หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง มาเป็นเวลานานเป็นที่รู้จักเรียกขานในนามหลวงพ่อวัดไร่ขิง คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์ โศกโรคภัยต่างๆ

สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อวัดไร่ขิง ตั้งนะโม 3 จบ "กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ"

ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ว่าสามารถปัดเป่าทุกข์โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้อย่างอัศจรรย์ ทั้งยังอำนวยโชคลาภให้แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะ

โดยเฉพาะในงาน ประจำปี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มีมหรสพ 9 วัน 9 คืน พุทธศาสนิกชนแห่นมัสการสักการะ และบนบานศาลกล่าวด้วย "ว่าวจุฬา" เชื่อว่าหลวงพ่อชอบเป็นพิเศษ รองลงมา คือ ประทัดและละครรำ

แลกลิงค์

Create your own banner at mybannermaker.com!
Copy this code to your website to display this banner!
เอาลิงค์ติดที่เว็บท่านแล้วแจ้งที่ infothaiamulet@gmail.com