วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดประดู่ฉิมพลี

ล.ป.โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
หลวงปู่โต๊ะท่านอยู่กับวัดประดู่ฉิมพลีมาตั้งแต่เด็ก บรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ และได้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดนี้มาช้านานถึง ๖๙ ปีจนมรณภาพ พูดได้ว่าท่านผูกพันกับวัดประดู่ฉิมพลีอย่างแน่นแฟ้นมาตลอดชีวิต ท่านจึงเป็นธุระดูแลบูรณะปฏิสังขรณ์และทำความเจริญต่าง ๆ ให้แก่วัดของท่านเอง ความเจริญทั้งหลายทุก ๆ ด้านที่บังเกิดแก่วัดประดู่ฉิมพลีในทุกวันนี้ ถ้าจะพูดว่าเป็นผลงานของท่าน ก็ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้ อันวัดประดู่ฉิมพลีนี้เดิมเรียกว่าวัดสิมพลี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอกคู่กับวัดประดู่ในหรือวัดประดู่ในทรงธรรม จะเป็นวัดมีมาแต่เดิมหรือไม่ไม่ทราบได้ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาพิชยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้สถาปนาขึ้นเมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสำเร็จบริบูรณ์เอาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นเวลาถึง ๘ ปี

วัดประดู่ฉิมพลี อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีเนื้อที่เฉพาะเขตอาราม ไม่รวมที่ธรณีสงฆ์ถึง ๑๓ ไร่เศษ จัดว่าเป็นวัดใหญ่และงดงามมั่นคงมาก ผิดกับวัดที่เป็น “วัดราษฎร์” ทั่วไป ด้วยเหตุที่ท่านผู้สร้างท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีสูงในแผ่นดิน คือเป็น “ผู้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน” ทั้งยังว่าการพระคลังสินค้าด้วย ภูมิสถานที่ตั้งวัด คิดดูในสมัยก่อนจะต้องสง่างามอย่างยิ่ง ด้วยเขตวัดด้านหน้าจดคลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ตลอดแนว มีศาลาท่าน้ำ มีลานหน้าวัดกว้าง เขตพุทธาวาสมีกำแพงก่ออิฐถือปูน มีบัวทั้งข้างล่างข้างบนตลอดแนว บนกำแพงทำเป็นเสาหัวเม็ดยอดปริกห้าชั้น ลานหน้าวัดภายในกำแพงปูด้วยแผ่นหินแกรนิตจากเมืองจีนทั้งหมด ตรงกำแพงด้านหน้าเป็นประตูเข้าสู่พุทธาวาส

เบื้องปลายชีวิต (หลวงปู่โต๊ะ)
พระราชสังวราภิมณฑ์ อยู่ในสมณเพศมาตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ท่านได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยมีความรู้จนแตกฉานลึกซึ้ง และถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตอันยาวนานถึง ๙๔ ปีของท่าน เป็นรัตตัญญูผู้รู้กาลนาน เป็นครูของสาธุชนทุกหมู่เหล่า เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลทุกเพศทุกวัย ทุกชาติชั้น นับแต่สามัญบุคคลจนถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้อายุพรรษาจะมากเพียงใด ท่านก็มิได้ขัดศรัทธาของผู้ที่อาราธนาไปการบุญกุศลต่าง ๆ มีการนั่งเจริญสมาธิภาวนาอำนวยสิริมงคล เป็นต้น จึงในระยะหลัง ๆ นี้ทำให้สังขารร่างกายท่านต้องลำบากตราตรำมากเกินไป และเกิดอาพาธขึ้นบ่อย ๆ

แม้จะได้รับการเยี่ยวยารักษาและดูแลพยาบาลอย่างดีเพียงใด กายสังขารของท่านก็ทนอยู่ไม่ไหว ท่านอาพาธครั้งสุดท้ายในเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากกลับจากถ้ำสิงโตทอง มีอาการอ่อนเพลียบ้างเป็นลำดับ ก่อนมรณภาพ ๗ วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลยแต่ยังพอฉันได้บ้าง นายแพทย์ต้องให้น้ำเกลือทุกวัน อาหารนั้นถวายข้าวต้มกับรังนกอีก ราว ๗.๐๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๕ มีนาคม เวลาเช้าศิษย์ผู้พยาบาลก็ถวายข้าวต้มกับรังนกอีก คราวนี้สังเกตเห็นว่าแขนข้างขวาท่านบวม จึงกราบเรียนกับท่านว่า “แขนหลวงปู่บวมมาก” ท่านก็พยักหน้ารับคำแล้วฉันและหลับตาพักต่อไป โดยให้ออกซิเจนช่วยการหายใจตลอด เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ท่านอ่อนแรงลงอีกและพอถึงเวลา ๙.๕๕ นาฬิกา ท่านก็สิ้นลมด้วยอาการสงบดุจนอนหลับไป ณ กุฏิสายหยุด นับอายุได้ ๙๓ ปี ๑๐ เดือน กับ ๒๒ วัน ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ ภูพิงคราชนิเวศน์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลาร้อยปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษเสมอ พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมทั้งฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ แก่การศพโดยตลอด เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประทานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในการบำเพ็ญพระราชกุศล ออกเมรุและพระราชทานเพลิงเผาศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินนทราวาสก็จักได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานอีกคำรบหนึ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระราชสังวราภิมณฑ์ตลอดจนศิษย์ทุกคนหาที่สุดมิได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แลกลิงค์

Create your own banner at mybannermaker.com!
Copy this code to your website to display this banner!
เอาลิงค์ติดที่เว็บท่านแล้วแจ้งที่ infothaiamulet@gmail.com