วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

พระชุดเบญจภาคี

พระเครื่องประเภทมหสนิยมที่พุทธศาสนิกชนไทย เคารพสูงสุดและมักนำติดตัวไปในที่ต่างๆ เพื่อให้คุ้มกัน และคุ้มครองตน 5 ชนิดคือ
1. พระสมเด็จพุฒาจารย์(โต) หรือ พระสมเด็จฯ
2. พระนางพญา
3. พระรอด
4. พระกำแพงทุ่งเศรษฐี หรือ พระซุ้มกอ
5. พระผงสุพรรณ

พระเครื่องทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวมานี้รวมเรียกว่า "องค์เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง" โดยที่มี

พระสมเด็จ
1. พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ พระสมเด็จ เป็นองค์ประธาน ทรงคุณวิเศษทางมหานิยมและมหิทฤทธิ์ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระนางพญา
2. พระนางพญา เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับแรก ทรงคุณวิเศษคล้ายกับพระสมเด็จฯ แต่หนักไปในทาง มหิทฤทธิ์ มากกว่าพระสมเด็จฯ เล็กน้อย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระรอด
3. พระรอด เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับแรก ทรงคุณวิเศษทางมหิทฤทธิ์ แคล้วคลาด และมหานิยม สร้างในสมัยศรีวิชัย

พระซุ้มกอ
4. พระกำแพงทุ่งเศรษฐีหรือพระซุ้มกอ เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับรอง ทรงคุณวิเศษทางเกื้อกูล ลาภยศเงินทอง คงกระพัน และมหานิยมสร้างในสมัยสุโขทัย

พระผงสุพรรณ
5. พระผงสุพรรณ เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับสอง ทรงคุณวิเศษทางหลักทรัพย์ เป็นสื่อทางโชคลาภ และหนักไปทางคงกระพันแคล้วคลาด มากกว่าพระกำแพงทุ่งเศรษฐี สร้างในสมัยอู่ทอง

สำหรับ พระสมเด็จพุฒาจารย์ พระนางพญา และพระรอดนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็น "องค์ไตรภาคีแห่งพระเครื่อง" โดยมีพระสมเด็จพุฒาจารย์ เป็นองค์ประธานเช่นเดียวกันกับ องค์เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

หลวงพ่อเฮง วัดเขาดินใต้

ล.พ.เฮง วัดเขาดินใต้
หลวงพ่อเฮง วัดเขาดินท่านเกิดปี พ.ศ. 2402 ที่บ้านมหาโพธิ์ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ โยมบิดาชื่อโยมสังข์ โยมมารดาชื่อโยมเปี่ยม พอหลวงพ่อเฮงเกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ โยมบิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า "เฮง" ท่านมีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดโยมบิดาให้ไปเฝ้านา ท่านเห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอม ไล่ เพราะท่านถือว่าเป็นการให้ทานแก่นก หลวงพ่อเฮง วัดเขาดินท่านเป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือวิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ พออายุได้ 12 ปี ท่านก็ขอโยมบิดามารดา บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ 4 พรรษาก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

คชสีห์ ล.พ.เฮง
พออายุครบบวชในปี พ.ศ.2423 หลวงพ่อเฮงจึงได้อุปสมบท ที่วัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมีพระครูกิ่ม เจ้าอาวาส วัดมหาโพธิ์ใต้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาโหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ อีกมากมายจากพระอาจารย์กิ่ม และที่วัด มหาโพธิ์ใต้ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำราต่างๆ ไว้มากมาย อีกทั้งพระอุโบสถ ของวัดก็เป็นพระอุโบสถแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะพักอยู่เสมอๆ หลวงพ่อเฮงจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย ต่อมาหลวงพ่อเฮงท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบต่างๆ ถึงพม่า เขมรและลาวหลายครั้ง และท่านก็เข้าใจธรรม ชาติของสัตว์ป่าได้ดี และสามารถเรียกอาการ 32 ของสัตว์ที่ตายแล้วให้มาเข้ารูปจำลองที่ได้สร้างขึ้นได้

จากการที่หลวงพ่อเฮงท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาต่างๆ ท่านจึงได้รู้ว่างาช้างที่มีการทนสิทธิ์ในตัวเองมี 2 ประเภทคือ งากำจัดและงากำจาย งากำจัดคืองาที่ช้างตัวผู้ตกมันแทงงาหักติดกับต้นไม้ และงากำจายคืองาที่ช้างตัวผู้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงเป็นจ่าฝูง และแตกหักตกอยู่ในป่า เมื่อหลวงพ่อเฮง ท่านพบก็จะเก็บไว้เพื่อนำมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลังต่อมา ซึ่งส่วนมากก็จะมาแกะเป็น รูปเสือ คชสีห์ สิงห์ และหมู หลวงพ่อเฮงเป็นต้น

หลวงตาวาส วัดสพานสูง

ประวัติหลวงปู่วาส วัดสะพานสูง พระเกจิชื่อดังเมืองนนท์
"หลวงปู่วาส สีลเตโช" พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

เป็นศิษย์เอกสืบสายธรรมจากหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่กลิ่น หลวงพ่อทองสุข และหลวงตาใย แห่งวัดสะพานสูง รวมทั้ง อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสจอมขมังเวทด้วย

พระสงฆ์ทุกรูปที่กล่าวนามมา ล้วนเป็นพระเกจิชื่อดังเรืองนามด้วยกันทั้งสิ้น

หลวงปู่วาส ครองตนอย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ มักน้อย ถือสันโดษ มานานหลายสิบปีแล้ว

ที่สำคัญท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา

หลวงตาวาส วัดสพานสูง
ปัจจุบัน หลวงปู่วาส สีลเตโช สิริอายุ 95 พรรษา 74 เกิดในสกุล เกิดน้อย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2459 ที่บ้านในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายพัดและนางเลื่อน

เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบท มี พระสุเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า "สีลเตโช"

สำหรับประวัติ หลวงปู่วาส ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่เอี่ยม ชัดเจนที่สุด คือ หลวงปู่วาส สืบทอดพุทธาคมจากอาจารย์แปลก ร้อยบาง แห่งวัดสะพานสูง และยังเป็นทายาทโดยสายเลือดของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง โดยเป็นเหลนของทวดอิ่ม ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมอุทรของหลวงปู่เอี่ยมนอกจากนี้ ยังมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ที่เป็นทั้งน้าและอา เกี่ยวโยงเป็นญาติกัน

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2480 เมื่อครั้งที่ท่านบวชนั้น ทั้งหลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง และหลวงพ่อสุ่น ได้เดินทางไปร่วมงานฉลองพระใหม่ที่บ้าน และหลวงพ่อสุ่น ได้มอบหนุมานเนื้องาและผ้ายันต์ให้เป็นของที่ระลึก พร้อมกับบอกคาถาปลุกเสกหนุมานให้ด้วย

ส่วนพระอาจารย์ผันแห่งวัดอินทาราม ศิษย์เอกของหลวงปู่กลิ่น และเป็นผู้ที่สร้างพระปิดตา-พระลำพูน ถวายหลวงปู่กลิ่นแจกในงานแซยิด ครบ 6 รอบ สำหรับพระอาจารย์ผัน ยังมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติผู้พี่ของหลวงปู่วาสด้วย ส่วนหลวงพ่อจำปา พระเกจิอาจารย์ทางด้านสักยันต์ แห่งวัดสาลีโข มีศักดิ์เป็นหลวงน้าของหลวงปู่วาส กล่าวกันว่า หลวงปู่วาสป็นผู้สืบทอดวิชาตะกรุดโสฬสมหามงคล ตะกรุดมหาอุด

ในอดีตที่ผ่านมา หลวงปู่วาส ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสทายาทพุทธาคมยันต์มหาอุด ตามความเดิมนั้น อาจารย์แปลก ร้อยบาง เป็นศิษย์ฆราวาส ร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดโสฬสมหามงคล มาจากหลวงปู่กลิ่น ในฐานะศิษย์สายตรง คนเดียวเท่านั้นที่เป็นฆราวาส ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมืองนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จวบจนหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ อาจารย์แปลกก็ยังคงจารตะกรุด จนถึงสมัยของหลวงปู่สุข และในครานั้นเองอาจารย์แปลก ได้ถ่ายทอดวิชาการทำตะกรุดมหาอุดให้หลวงปู่วาส

ส่วนหลวงตาใย ศิษย์หลวงพ่อทองสุข ได้ครอบครูยันต์โสฬสมงคลให้กับหลวงปู่วาสอีกด้วย หลวงปู่วาสร่ำเรียนวิชานี้อย่างครบสูตรวิชาโสฬสมหามงคลและยันต์มหาอุดจนเกิดความชำนาญ สามารถสานต่องานลงจารเขียนยันต์ด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่บังเกิดเป็นพุทธคุณเห็นทันตาในยุคนั้น ทุกวันนี้ หลวงปู่วาส ยังคงจารตะกรุดโสฬสมงคลและพระปิดตาสายวัดสะพานสูง เพื่อมอบให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญที่วัดสะพานสูง ซึ่งปัจจัยทุกบาททุกสตางค์ ได้นำไปร่วมทำบุญกับวัดและมอบกลับคืนสู่สังคม สร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาส ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ท่านได้รับการยกย่อง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมและวิทยาคมเข้มขลังระดับแนวหน้าของเมืองนนทบุรีอีกรูปหนึ่ง

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง

ล.พ.น้อย วัดศรีษะทอง
ประวัติหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
หลวงพ่อน้อย เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ ปีมะโรง ที่บ้านศรีษะทอง บิดาชื่อนายมา มารดาชื่อนางมี นาวารัตน์ หลวงพ่อน้อยมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน หลวงพ่อน้อย ท่านเป็นน้องคนสุดท้อง โยมบิดาของหลวงพ่อน้อยเป็นหมอ รักษาโรคแบบแผนโบราณและเป็นหมอไสยศาสตร์ที่เก่งกล้าทางอาคม ชาวบ้านเรียกกันว่า "พ่อหมอ" อยู่ยงคงกระพันขนาดเอามีดคมๆ สับเนื้อหนังตนเองให้ดูได้สบายไม่ระคายเคืองผิวหนังแต่อย่างใด ในสมัยที่ยังเป็นหนุ่มท่านเคยสู้กับนักเลงต่างถิ่น ถึงขั้นถูกรุม ท่านคนเดียว ยังไล่ฟันพวกนักเลงต่างถิ่นต่างบาง ด้วยดาบยับเยินไปทุกคน ขึ้นชื่อว่า "พ่อหมอ" นักเลงรุ่นนั้นเป็นส่ายหน้าหนีจนเป็นที่เลื่อมใสของคนลาวโดยทั่วไป

เมื่อหลวงพ่อน้อย ท่านอายุได้ 21 ปี ก็ได้บวช เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ขึ้น 12 ค่ำ เดือนเมษายน พ.ศ. 2456 ปีฉลู โดยมีพระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแคเป็นพระอุปฌาจารย์,พระอธิการเกิด วัดงิ้วรายเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า "คนธโชโต"

เครื่องรางของขลัง หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
เครื่องราง-ของขลัง ที่ขึ้นชื่อของท่านคือ พระราหูอมจันทร์ เนื้อกะลาตาเดียวและวัวธนู ท่านได้สร้างวัตถุมงคลและพระเครื่องหลายอย่าง เป็นที่เสาะหาต้องการของใครหลายๆคน เนื่องจากพุทธคุณสูงมาก โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังที่ขึ้นชื่อคือ พระราหูอมจันทร์ของวัดศรีษะทองมีลักษณะและวิธีการสืบมาจาก หลวงพ่อไตร แต่ได้มีการสร้างมากที่สุดในสมัยหลวงพ่อน้อย เป็นการสร้างตามตำรับใบลานจานอักขระขอมลาวที่นำมาจากประเทศลาวโดยตรง

กะลาตาเดียวแกะพระราหู ล.พ.น้อย
พระราหูอมจันทร์ เนื้อกะลาตาเดียวของหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
พระราหูอมจันทร์ของวัดศรีษะทองมีลักษณะและวิธีการสืบมาจากหลวงพ่อไตร แต่ได้มีการสร้างมากที่สุดในสมัยหลวงพ่อน้อย เป็นการสร้างตามตำรับใบลานจานอักขระขอมลาวที่นำมาจากประเทศลาวโดยตรง

เครื่องรางของขลังที่ให้คุณ ในด้านของโชคลาภ การพ้นเคราะห์ แก้กรรมต่างๆ และเพื่อเสริมดวงชะตาก็คงจะต้องยกให้กับพระราหูอมจันทร์ เนื้อกะลาตาเดียว แกะของหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง จ.นครปฐม

วัวธนู ล.พ.น้อย
วัวธนู หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
วัวธนูของหลวงพ่อน้อย มีด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบแรกเป็นวัวธนูที่แกะจากปลายยอดเขากระทิง แต่ค่อนข้างจะหายาก เนื่องจากเขาข้างเดียวแกะได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น อีกทั้งการแกะ ต้องแกะในช่วงเวลาตามฤกษ์ที่กำหนด

ส่วนแบบที่สองเป็นวัวธนูที่ปั้นขึ้นจากครั่ง ซึ่งครั่งที่จะนำมาสร้างวัวธนู ต้องนำมาจากกิ่งพุทราที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก กล่าวว่าต้องใช้ครั่งถึง 3ต้นขึ้นไป แต่หากใช้จากกิ่งตายพรายกิ่งเดียวก็พอ ด้วยมีอานุภาพตามความเชื่อ

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส

เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส
โดยปรกติการปลุกเสกเสือของท่าน ท่านจะปลุกเสกเดี่ยวพร้อมกับร่างทรง หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยทุกครั้ง และที่สำคัญที่สุดคือ ท่านจะปลุกเสกจนเสือทุกองค์เคลื่อนไหวได้ กระโดดได้ เป็นอันเสร็จพิธี ในสมัยโบราณมักจะปลุกเสกกันแบบนี้ แต่หลังยุค พ.ศ.2500 จะไม่เคยได้ยินว่ามีเกจิท่านใดตั้งใจปลุกเสกเครื่องรางของขลังแบบนี้อีก การปลุกเสกแบบนี้ใช้เวลานานและต้องเก่งจริงๆถึงจะทำได้

เสือรุ่น6 วัดปริวาส
หลวงพ่อวงษ์ ท่านมีความเคารพเลื่อมใสในตัว หลวงพ่อปาน วัดคลองด่านมาก ท่านจึงสร้างเสือตามแบบฉบับของหลวงพ่อปาน แต่สร้างเป็นเสือเนื้อโลหะครับ เสือรุ่นแรกของท่านนั้นสร้างในปี พ.ศ. 2501 เนื่องจากหลวงพ่อวงษ์สร้างรูปเหมือนหลวงพ่อปาน จากนั้นทองฉนวนที่เหลือท่านจึงนำไปผสมปั๊มเป็นรูปเสือรุ่นแรก ออกมาเป็นเนื้อทองผสมทองเหลือง สร้างได้จำนวน 500 ตัว โดยตอกโค้ดตัวเฑาะว์ และตัวพุทเป็นอักษรขอมไว้ที่ด้านหลังเสือ โดยทำพิธีปลุกเสกที่ในพระอุโบสถ และมีการบวงสรวงอัญเชิญหลวงพ่อปานให้มาช่วยทำพิธีด้วย ว่ากันว่าการทำพิธีปลุกเสกนั้น ปลุกเสกจนเสือกระดุกกระดิกได้จึงเสร็จพิธีครับ เสือหลวงพ่อปาน แท้ๆเล่นหากันหลักแสน แต่หลวงพ่อวงษ์ได้เรียนรู้วิธีการสร้างเสือตามสูตรหลวงพ่อปาน และจะนิมนต์ดวงวิญญาณหลวงพ่อปานให้มาลงทรงร่วมปลุกเสกเสือทุกรุ่น

เสือรุ่นหก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2519 จำนวน 37400 องค์ เสือรุ่น4-5 สร้างเป็นเสือหล่อ ที่เหลือตั้งแต่รุ่น1-2-3-6 เป็นเสือปั๊ม รุ่นนี้นอกจากตัวหลวงพ่อวงษ์และร่างทรงหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยแล้ว ท่านเจ้าคุณสมชายเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้เข้าร่วมปลุกเสกด้วย เหมือนดั่งหลวงพ่อวงษ์ท่านรู้เวลามรณภาพของตัวเอง เสือรุ่นนี้สร้างในปริมาณที่มากกว่าทุกรุ่น และเป็นรุ่นที่ประสบการณ์สูงสุดจากผู้นำไปใช้บูชา หลวงพ่อวงษ์ท่านกล่าวไว้ว่า “ตอนปลุกเสกเสือรุ่น 1 นั้น กูเพิ่งจบชั้นประถม แต่เสือรุ่น 6 นั้นกูจบปริญญาแล้ว พวกมึงว่ารุ่นไหนจะดีกว่ากัน” (คัดลอกจากหนังสือวังสปาลานุสรณ์)

เสือรุ่น 6
เสือ รุ่น6 พิมพ์นิยมคือ หูด้านหนึ่งจะมีเป็นจุดทองแดงเม็ดเล็กๆอยู่ด้านในรูหู และบล็อกนี้ตรงคอจะเป็นรอยขยักแทบทุกองค์ อีกอย่างหนึ่งคือผิวเนื้อทองแดงจะมีรอยราน(ผิวทองแดงไม่เรียบสนิท) บล็อกนี้มีน้อยและหายาก

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีกุล

พระประจำปีกุล - ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ ปางทรงเครื่อง
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

พระประจำปีกุล - ปางโปรดพญาชมพูบดี

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับสำราญพระอิริยาบท อยู่ในพระเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสาร ทรงสร้างถวาย ครั้งนั้นพระยาชมพูวดี ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการและฤทธานุภาพมาก ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ พระเจ้าพิมพิสารจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวัน ขอพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพระยามหาชมพูได้ จึงทรงเนรมิตพระเวฬุวันให้เป็นดังดุจเมืองสวรรค์ และทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นเจ้าราชาธิราช ทรงเครื่องราชาภรณ์ครบทุกประการ และดำรสสั่งให้พระอินทร์แปลงเป็นราชฑูตไปเชิญพระยามหาชมพูมาเฝ้า ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงแสดงธรรมโปรดจนพระยามหาชมพูหมอทิฐิมานะ ขอบรรพชาอุปสมบทพร้อมด้วยพระมเหสีและราชโอรส

พระพุทธรูปปางทรมานพระยามหาชมพู (พระทรงเครื่อง) ทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืนทำพระหัตถ์อย่างปางห้ามสมุทร และพระปางห้ามญาติ หรือทำเป็นพระพุทธรูปนั่งแบบปางมารวิชัยฉลองพระองค์และสวมมงกุฎด้วยเครื่องขัตติยราช

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีจอ

พระประจำปีจอ - ปางชี้อัครสาวก
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาชี้นิ้วออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวก ให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

พระประจำปีจอ - ปางชี้อัครสาวก

พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้น ชี้นิ้วพระหัตถ์ขวาตรงออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาประกาศอัครสาวกให้ปรากฎในประชุมสงฆ์ ฯ เมื่อมาณพ 2 คน คือ อุปติสสะ หรือ สารีบุตร กับโกลิตะ หรือ โมคัลลานะ ได้พากันออกจากตระกูลเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันหนึ่งสารีบุตรได้ไปพบพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมโดยย่อว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น ทำให้สารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อโมคคัลลานะได้ฟังธรรมที่สารีบุตรแสดงให้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน ทั้งสองจึงพากันไปเฝ้าพระศาสดาและทูลขออุปสมบท หลังจากบวชได้ 7 วัน พระโมคคัลลานะก็บรรลุอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรก็บรรลุอรหันต์ หลังจากนั้นอีก 7 วัน เมื่อท่านทั้งสองได้บรรลุอรหันต์ พระศาสดาก็ยกย่องให้พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ส่วนพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ฯ

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีระกา

พระประจำปีระกา - ปางรับมธุปายาส
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ห้อยพระบาท

พระประจำปีระกา - ปางรับมธุปายาส

พระประจำปีระกา - ปางเสวยมธุปายาส
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ประคองถาดมธุปายาส

พระประจำปีระกา - ปางเสวยมธุปายาส


วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีวอก

พระประจำปีวอก - ปางปฐมบัญญัติ
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

พระประจำปีวอก - ปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระศาสนาให้ดำรงอยู่ ฯ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน นครเวสาลี มีเศรษฐีบุตรคนหนึ่งชื่อ สุทิน ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส จึงบวชเป็นภิกษุในพระศาสนา วันหนึ่งพระสุทินเข้าไปบิณฑบาตในระแวกบ้าน เศรษฐีผู้เป็นบิดาพบเข้าจึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันในเรือน และได้เอาทรัพย์สมบัติตลอดถึงภรรยาเก่าของพระสุทินมาเล้าโลมให้พระสุทินสึก พร้อมกับรำพันถึงตระกูลมีบุตรคนเดียวไม่มีทายาทรับมรดก พระสุทินก็ตอบว่ายังยินดีในพรหมจรรย์อยู่ บิดามารดาจึงหมดหวัง จึงขอร้องเป็นครั้งสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอพืชพันธุ์ไว้เป็นทายาท เพราะครอบครัวที่ไม่มีบุตรสืบตระกูล จะต้องถูกยึดมรดกพระสุทินจึงรับปากและได้ร่วมหลับนอนกับภรรยาเก่า จึงเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า พีชกะ ต่อมาพระพุทธเจ้าทราบเรื่องทรงตำหนิพระสุทินเพราะเหตุนี้เป็นอันมาก แล้วทรงบัญญัติปฐมสิกขาบท ฯ

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีมะแม

พระประจำปีมะแม - ปางประทานพร (ยืน)
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง

พระประจำปีมะแม - ปางประทานพร (ยืน)

ประวัติพระพุทะรูปปางประทานพร (ยืน)
มหาอุบาสิกาวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐี เป็นหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเบญจกัลยาณี ได้แก่ มีผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม นางมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และเป็นพระโสดาบันบุคคลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ในช่วงฤดูฝนในพรรษาหนึ่ง นางวิสาขาไให้นางทาสีของนางมานิมนต์พระภิกษุ พอดีฝนตก พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร นางทาสีเข้าใจว่าเป็นนักบวชลัทธิชีเปลือย จึงกลับไปบอกนางวิสาขา หลังจากถวายภัตตาหารและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นางวิสาขาจึงกราบทูลขอประทานพรจากพระพุทธองค์เพื่อถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่ภิกษุ ภิกษุณี ได้แก่ ( ๑ ) ผ้าอาบน้ำฝน ( ๒ ) อาหารสำหรับภิกษุอาคันตุกะ ( ๓ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้เตรียมจะไป ( ๔ ) อาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ ( ๕ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ ( ๖ ) ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้ ( ๗ ) ขอให้ได้ถวายข้าวยาคู ( ๘ ) ผ้าอาบน้ำสำหรับภิกษุณี พระพุทธองค์ทรงประทานพรทั้ง ๘ ข้อแก่นางวิสาขา เลยเป็นที่มาของปางประทานพร (ยืน) และการสร้าง พระพุทธรูปปางประทานพร (ยืน)

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีมะเมีย

พระประจำปีมะเมีย - ปางสนเข็ม
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้ายเป็นกิริยาสนเข็ม

พระประจำปีมะเมีย - ปางสนเข็ม

พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็มพระหัตถ์ซ้ายทำ กิริยาจับเส้นด้าย อยู่ในพระอาการสนเข็ม ฯ ในครั้งพุทธกาลเมื่อถึงคราวทำผ้ากฐินภิกษุจะต้องช่วยกันเย็บจีวรเองและต้องให้เสร็จทันเวลา แม้พระบรมศาสดาก็มิได้ทรงดูดายจะเสด็จไปเป็นประธานในงาน ทรงรับภาระช่วยสนเข็มในขณะพระเย็บผ้าจีวรอยู่ รูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวายพระองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน ฯ

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

พระประจำปีมะเส็ง

พระประจำปีมะเส็ง - ปางทรงรับอุทกัง
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

พระประจำปีมะเส็ง - ปางทรงรับอุทกัง
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุเป็นกิริยารับน้ำ ฯ ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร แล้วเสด็จเข้าไปประทับอาศัยอยู่ในอัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร ครั้นนายจุนทะได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล นายจุนทะได้กราบอาราธนาทูลนิมนต์พระองค์กับหมู่ภิกษุให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตยังบ้านนายจุนทะได้ตกแต่งอาหารคาวหวานกับทั้งสุกรมัททวะ (เนื้อสุกรอ่อน) เมื่อพระองค์ไปถึงก็รับสั่งให้ถวายสุกรมัททวะเฉพาะต่อตถาคต ที่เหลือให้ฝังเสีย นายจุนทะก็ทำตาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วตรัสอนุโมทนาให้นายจุนทะ ก็เสด็จกลับไปสู่อัมพวัน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตตาหารแล้ว ก็ทรงประชวรพระโรค โลหิตปักขัณฑิกาพาธ คือโรคลงพระโลหิต ตรัสสั่งกับพระอานนท์ให้พาเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางทรงกระหายน้ำ อันเนื่องมาจากอาการพระประชวร จึงขอเสวยน้ำ แต่พระอานนท์ได้ทูลทัดทานถึง 2 ครั้ง เพราะแม่น้ำเล็ก น้ำในแม่ก็น้อย เกวียนจำนวน500 เล่ม เพิ่งข้ามไป น้ำจึงขุ่นไม่ควรจะดื่ม ครั้นพระองค์รับสั่งเป็นครั้งที่ 3 พระอานนท์จึงได้สติว่า ธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสแต่ในสิ่งที่มีสาเหตุเท่านั้น จึงนำบาตรไปยังแม่น้ำ เมื่อไปถึงก็เกิดอัศจรรย์ใจที่น้ำในแม่น้ำกลับใสสะอาด พระเถรเจ้าได้ลงไปตักน้ำน้อมไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสวยตามประสงค์ ฯ

แลกลิงค์

Create your own banner at mybannermaker.com!
Copy this code to your website to display this banner!
เอาลิงค์ติดที่เว็บท่านแล้วแจ้งที่ infothaiamulet@gmail.com